เทคนิคจัดการปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ทำยังไงให้มัดใจลูกน้อง by โต ต่อ เติม

เทคนิคจัดการปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ทำยังไงให้มัดใจลูกน้อง by โต ต่อ เติม

สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้น ปี 63 ซึ่งต้องประสบกับสถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่องนานกว่า 2 ปี ทำ ให้ผลกระทบทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากมาตรการปิดการเดินทางเข้าออกประเทศ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นผลจากการเดินทางกลับถิ่นฐานของแรงงานต่างด้าว แล้วไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ ทำให้ในช่วงปี 64 แรงงานในระบบหายไปกว่า 300,000 – 500,000 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างเกิดความกังวลในระยะยาว (ขอบคุณข้อมูลจาก REIC ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์) 

บทความนี้รักเหมาได้สรุปประสบการณ์การจัดการแรงงาน รับมืออย่างไรในวันที่ปัญหาแรงงานขาดแคลนหนักขึ้นทุกวัน จากผู้รับเหมาตัวจริง คุณโต – อัครินทร์ จากช่อง โต ต่อ เติม เพื่อเป็นแนวทางให้พี่ๆ ผู้รับเหมาทุกคนได้นำไปปรับใช้กันค่ะ

ปัญหาการขาดแรงงานในปัจจุบันเกิดจากอะไร

เมื่อพูดถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นอกจากปัจจัยที่คนงานส่วนใหญ่กลับประเทศจากวิกฤตการณ์โควิด-19 เเล้ว ทุกคนเคยได้ยินสุภาษิตว่า “น้ำถึงไหน ปลาถึงนั่น” กันบ้างไหมครับ ความหมายของมันคือ เมื่อมีสิ่งดึงดูดใจที่ไหน คนก็จะตามไปที่นั่น ซึ่งสิ่งล่อใจหลักๆ หนึ่งเดียวเลยก็คือ “เงิน” ทีนี้ทุกคนคงมองเห็นกันเเล้วว่า ทำไมแรงงานคนไทยในต่างจังหวัด ถึงเข้ามาทำงานในเมืองหลวง รวมถึงเหล่าแรงงานต่างด้าวที่ข้ามประเทศเพื่อเข้ามาทำงานยังประเทศไทย เพราะการย้ายถิ่นฐานนั้นเป็นเรื่องรอง ส่วนปัจจัยหลักจริงๆ ก็คือ “เงิน” นั่นเอง

ทุกวันนี้มีผู้รับเหมาเก่าๆ ขาดแคลนแรงงาน แล้วมาขอสมัครงานกับผมเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่มีแต่คนเก่งๆ ทั้งนั้นเลย เป็นผู้รับเหมามากประสบการณ์ที่สามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการแรงงานการตรวจสอบ และดำเนินงานก่อสร้าง การบริหารไซต์งาน รวมถึงการบริหารจัดการบุคคลในองค์กร พวกเขาทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี แต่สิ่งเดียวที่ขาด คือ “การบริหารจัดการงบประมาณการเงิน” จากที่ผมได้สอบถามกับพี่ๆ ผู้รับเหมาที่มาสมัครงานกับผม เหตุผลหลักที่ทำให้คนงานหายไป มักมาจากเรื่องผลประโยชน์ และค่าจ้างที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะบ่อที่น้ำแห้ง ปลาที่เคยอยู่ก็จำต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปยังบ่ออื่น โดยปลาเหล่านั้นจะไม่มองเลยว่า ถ้ารออีกสักหน่อย เดี๋ยวฝนก็คงตก เพราะค่าจ้างมันหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาที่ต้องดูแลครอบครัวบวกกับภาระมากมาย การบริหารเงินที่ผิดพลาด จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้รับเหมาส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนคนงานนั่นเอง ทีนี้พอขาดแรงงาน งานที่ทำอยู่ก็ไม่เดิน งวดงานก็เบิกไม่ได้ อีกทั้งงานใหม่ที่จะรับเข้ามาเพื่อหมุนค่าใช้จ่ายในส่วนของการก่อสร้างก็ไม่มี ซึ่งก็จะส่งผลให้ผู้รับเหมาท่านนั้นถังแตก หรือไม่ประสบความสำเร็จในการทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างนั่นเองครับ 

คุณโตหาแรงงานก่อสร้างได้ที่ไหนบ้าง

สำหรับแรงงานก่อสร้างนั้นหาไม่ยากครับ เพียงเดินทางไปสำนักจัดหางานเพื่อแจ้งความจำนงเท่านั้นเอง หรือหากต้องการเป็นแรงงานคนไทย หรือช่างฝีมือจริงๆ สมัยนี้ก็มีโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือกลุ่มต่างๆ ที่กดโพสต์เพียงคลิกเดียว ก็สามารถหาคนเข้ามาทำงานได้แล้ว แต่การทำให้เขาอยู่กับเราไปนานๆ ไม่หนีไปไหนต่างหาก คือสิ่งที่ยาก สรุปแล้วการหานั้นไม่ยาก แต่การรักษาแรงงานเอาไว้ให้ได้นั้นยากยิ่งกว่าครับ

ประสบการณ์การขาดแคลนแรงงานที่เคยเจอ ตอนนั้นแก้ปัญหาอย่างไร

ตัวผมเองเคยมีประสบการณ์ที่แทบทำให้เกือบล้มเลิกอาชีพนี้ไปเลยครับ ขออนุญาตย้อนกลับไปที่สุภาษิต “น้ำถึงไหน ปลาถึงนั่น” เพราะเรื่องของผมนั้นเกี่ยวกับข้องกับสุภาษิตนี้เต็มๆ เลย สมัยก่อนตอนผมจบใหม่ๆ ด้วยความที่ผมทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างเลยมีช่างในมืออยู่ประมาณ 20 คน เนื่องจากพวกเขาเป็นเพียงแรงงานที่พอทำเป็น ผมเลยสอนงานช่างทุกอย่าง เรื่องไหนที่สอนไม่ได้ก็พยายามไปหาความรู้เพิ่ม หรือไม่ก็จ้างผู้รู้มาสอน จนทำให้แรงกลุ่มนี้พัฒนาขึ้นเป็นช่างฝีมือที่ทำงานรับเหมาก่อสร้างได้

มีอยู่วันหนึ่งผมกลับมาที่ไซต์เเล้วลูกน้องหายไปทั้งหมด 20 คนเลยแบบไม่ทราบสาเหตุ ตอนนั้นบอกเลยว่ามืดแปดด้านมากๆ ซึ่งสาเหตุที่ลูกน้อยหายไปก็มาจากช่วงระหว่างวันที่ผมไม่อยู่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาท่านอื่นเข้ามาดูงานที่ไซต์ และมาจีบลูกน้องที่เป็นช่างฝีมือของผมไปนั่นเอง โดยเริ่มจากการถามว่าปกติได้ค่าแรงเท่าไหร่ ยกตัวอย่างถ้าผมให้วันละ 650 บาท ผู้รับเหมาท่านนั้นก็เสนอเงินที่มากกว่าโดยให้วันละ 800 บาท

ตอนนั้นบอกเลยว่าผมเหมือนคนอกหัก เดินกลับไปที่พักคนงานตอนเช้าเเล้วน้ำตาไหล จุกอกไปหมด ไม่รู้จะทำยังไงต่อไป เพราะงานที่ค้างยังติดงวดก็ไม่มีคนทำ เงินที่ค้างค่าวัสดุไว้ก็ไม่มีจ่าย เพราะไม่สามารถเบิกงวดกับเจ้าของบ้านได้ ไม่มีแรงงานก็เท่ากับไม่มีงาน ช่วงนั้นผมเครียดมากจนนอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลงเลยทีเดียว

ถ้าถามผมวิธีการแก้ไขอันดับแรกคือ ต้องใจสู้ก่อน ผมตั้งกฎเหล็กไว้ตั้งแต่เริ่มทำงานด้านนี้แรกๆ เลยว่า เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไร ยังไงเราก็จะไม่ยอมทิ้งงาน ตอนนั้นผมเดินหน้าพยายามหาช่างมาแทน ยกหูโทรหาทุกคนที่รู้จัก ผมจำได้เลยว่า ตอนนั้นไม่มีคนเข้าไปทำงานจนเจ้าของบ้านใกล้ฟ้อง สคบ. เเล้ว แต่แรงงานตอนนั้นหายากจริงๆ เพราะมันมีข้อกฎหมายการผิดนายจ้างอยู่ด้วย สุดท้ายโชคดีที่ยังมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยแบ่งแรงงานมาทำงานจุดนี้ให้ผ่านไปก่อน จนสุดท้ายงานนั้นก็จบลงได้

แล้วเชื่อไหมครับว่าสุดท้ายเเล้ว แรงงาน 20 คนนั้นโทรกลับมาหาผมเพื่อขอกลับมาทำงานด้วย โดยได้ผลสรุปมาว่า ลูกน้องที่โดนซื้อตัวไปทำงานได้ค่าแรงวันละ 800 บาทจริง แต่ได้แค่สัปดาห์แรก หลังจากนั้นคือไม่ได้อีกเลย นายจ้างเริ่มบ่ายเบี่ยง หลังทำไปครบเดือนเเล้วยังไม่ได้เงินลูกน้องเลยพากันหยุดงานเพื่อประท้วงนายจ้าง แต่สิ่งที่นายจ้างคนนั้นทำคือ บอกลูกน้องทั้ง 20 คนให้มารวมตัวกันว่าจะจ่ายเงินให้ แล้วโทรเรียกตำรวจมาล้อมจับ ซึ่งแรงงานต่างด้าวหนีไม่พ้นเรื่องพวกนี้อยู่เเล้ว ผมเลยเข้าไปช่วยเคลียร์ว่าแท้จริงเเล้วเรื่องมันเป็นอะไรมายังไง หลังจากเคลียร์จบ ทั้ง 20 คนนั้นก็กลับมาเป็นลูกน้องผมต่อ เเละไม่เคยหายไปไหนอีกเลย

แชร์เทคนิคบริหารจัดการแรงงาน ทั้งแรงงานทั่วไป และแรงงานฝีมือ

ผมมีความคิดอย่างหนึ่งว่า ในทุกสายงาน “ลูกค้า คือพระเจ้า” และ “ลูกน้อง คือพระเจ้าอีกองค์หนึ่ง” จากเหตุการณ์ครั้งนั้นมันทำให้ผมเปลี่ยนมุมมองความคิดการบริหาร และการมองลูกน้องใหม่ไปเลย เพราะเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ให้ลูกน้องอยู่กับเราได้นาน และอยากอยู่กับเรามากที่สุด โดยไม่หนีไปไหน ซึ่งผมจะดูแลเอาใจใส่ และซัพพอร์ตลูกน้องดีมาก เรียกว่าแทบจะทำงานด้วยกันเลย ถ้าพวกเขาขาดเหลือตรงไหนที่ผมพอช่วยได้ก็จะช่วยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลังบ้าน ครอบครัว รวมถึงความเป็นอยู่ เพราะอยากให้เขาทำงานอยู่กับผมนานที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่พระคุณอย่างเดียว เราต้องมีพระเดชด้วย ผมเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการทั้งองค์กรให้เป็นแบบกลางๆ มีระบบที่ต้องปฏิบัติตาม และพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าไปดูในเรื่องที่ไม่ใช่แค่งาน แต่รวมถึงการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ ว่าพวกเขาต้องการอะไร

เทคนิคจัดการปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ทำยังไงให้มัดใจลูกน้อง by โต ต่อ เติม

ผมมีระบบแบ่งแรงงานตามระดับฝีมือ โดยจะมีตั้งแต่ระดับผู้ใช้แรงงาน ไปจนถึงช่างฝีมือ เพราะผมเข้าใจว่าความสามารถของแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีใจในการทำงาน โดยไม่เหน็ดเหนื่อย ผมเลยมีระบบแบ่งตามความสามารถทั้งค่าแรง และสวัสดิการ เพื่อให้คนในองค์กรมีความต้องการอยากที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา และยังมีการให้เบี้ยขยันอีกด้วย

ในช่วงก่อนที่ผมจะโดนคนงานทิ้งไป ผมไม่เคยมีความคิดเลยว่าคนที่ทำงานเยอะ มีความสามารถเยอะ จะต้องได้ค่าแรงเยอะ เพราะด้วยความที่เราเป็นผู้รับเหมา เราก็อยากได้ค่าแรงที่มันถูกที่สุดเพื่อให้เราได้กำไรเยอะที่สุด แต่จริงๆ แล้วมันทำอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องคิดว่าลูกน้อง คือพระเจ้า และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ เพราะอย่างนั้นเลยมีการแบ่งระดับ สมมุติว่าลูกน้องคนนี้เป็นผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงระดับหนึ่ง แต่ถ้าวันดีคืนดีเขาสามารถพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นช่างฝีมือ ผมก็พร้อมที่จะซัพพอร์ตค่าแรง และสวัสดิการต่างๆ ให้เขาอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนมีแรงผลักดันในการขึ้นมาเป็นแรงงานฝีมือเหมือนกัน เพราะบอกได้เลยว่าตอนนี้ผมมีแรงงานอยู่ประมาณ 10 กว่าคนที่เป็นช่างฝีมือ และเป็นบุคคลที่องค์กรของผมไม่สามารถขาดได้เลย

กรณีต้องรับงานก่อสร้างนอกพื้นที่ คุณโตมีวิธีจัดหาแรงงานอย่างไร

ต้องบอกก่อนเลยว่าบริษัทของผมอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่จะมีหลายไซต์กระจายอยู่ทั่วทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัด ซึ่งตัวผมเองก็เป็นคนที่ค่อนข้างใสซื่อในวงการ มีช่างซัพพลายเออร์เข้ามาทำงาน และหลอกผมเยอะมาก เช่น เข้ามาทำงานเเล้วหายไป เอาของวัสดุที่ผมซื้อให้ เครื่องมือที่ผมซัพพอร์ตขนย้ายหายไปเลย ผมจึงเป็นคนที่ไม่ชื่นชอบการใช้ซัพพลายเออร์เอามากๆ ถ้าเจ้าของบ้านคนไหนผ่านการทำงานกับผมมาจะรู้เลยว่า ส่วนใหญ่ผมใช้ช่างของผมทั้งหมดในการทำงาน 

ทีนี้ถ้าหากผมต้องจัดการกับไซต์งานในต่างจังหวัด หรือที่ไกลๆ อย่างแรกที่ผมมองหาเลยจะเป็นเรื่องของ “ที่พัก” เพราะที่พักเป็นสิ่งสำคัญมากๆ หากใช้ช่างของเราเองแล้วไม่มีที่พักให้เขา นั่นหมายความว่าในส่วนของค่าน้ำมัน และค่าเดินทาง เราต้องเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในส่วนนั้นไป ผมจะเริ่มมองก่อนว่าถ้าเป็นไซต์งานก่อสร้างใหญ่ๆ เราก็จะสามารถสร้างบ้านพักคนงานในนั้นได้ ผมจะใช้หลักโดยการเอาคนของเราเข้าไปพัก และใช้การส่งโฟร์แมน เข้าไปตรวจดูคุณภาพของงานเรื่อยๆ

แต่ถ้าเป็นงานต่อเติมเล็กๆ ที่ไม่สามารถพักได้ ก็จะค่อนข้างลำบากหน่อย โดยผมจะเริ่มมองไปยังวิธีที่สองนั่นคือ “การหารับเหมาช่วงที่น่าเชื่อถือ” ให้มารับงาน ซึ่งจะต้องเป็นช่างที่ผ่านงานมาค่อนข้างเยอะ และไว้ใจได้ เพราะด้วยความที่ช่างซัพพลายเออร์เป็นคนไทย ก็จะสามารถจอง และหาที่พักเองได้ ไม่เหมือนกับแรงงานฝีมือต่างด้าว ถ้าหากถามว่าตอนนี้ผมแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ได้หมดหรือยัง ต้องบอกก่อนเลยว่าก็ยังมีบางอันที่ต้องเสียงานไป และยังมีเคสที่ต้องปฏิเสธ เพราะไกลพื้นที่เกินไปเหมือนกันครับ

รักเหมา ขอขอบคุณ คุณโต – อัครินทร์ จากช่อง โต ต่อ เติม ที่ร่วมแชร์เทคนิคจัดการปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง หวังว่าพี่ๆ ผู้รับเหมา จะได้ไอเดียในการจัดการแรงงานกันมากขึ้นไม่มากก็น้อย สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดเทคนิค หรือเทรนด์การก่อสร้างดีๆ สามารถติดตามรักเหมาที่ช่องทาง Facebook และ Line OA ของรักเหมาได้เลย


รักเหมา แพลตฟอร์มจัดซื้อวัสดุก่อสร้างออนไลน์

ทำความรู้จัก “รักเหมา” แพลตฟอร์มจัดซื้อวัสดุก่อสร้างออนไลน์ ที่จะเปลี่ยนการจัดซื้อให้เป็นเรื่องง่าย ช่วยผู้รับเหมาและฝ่ายจัดซื้อให้เข้าถึงร้านค้าวัสดุก่อสร้างกว่า 200 ร้านค้าทั่วไทยอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยระบบ E-Procurement ที่จะเข้ามายกระดับงานจัดซื้อให้มืออาชีพ ได้ราคาไว ของครบ จบทุกสินค้าโครงการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *