Modular Construction เทคโนโลยีระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป เทรนด์ที่กลับมาสะเทือนวงการรับเหมาอีกครั้ง

Modular Construction เทคโนโลยีระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป เทรนด์ที่กลับมาสะเทือนวงการรับเหมาอีกครั้ง

ปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้า ควบคู่กับอัตราค่าแรงคนงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป หรือที่รู้จักกันในชื่อ Modular Construction เริ่มกลับมาได้รับความนิยมจากทั่วโลก และสั่นสะเทือนวงการรับเหมาอีกครั้ง เพราะเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้พัฒนา และผู้รับเหมา สามารถสร้างและขยายโครงการต่างๆ ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดต้นทุน ลดเวลางานก่อสร้าง และควบคุมคุณภาพงานโดยรวมได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่พี่ๆ ผู้รับเหมาทุกคน บทความนี้ รักเหมาจึงขอรวบรวมความรู้ และประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ Modular Construction หรือเทคโนโลยีก่อสร้างแบบสำเร็จรูป มาฝากกัน

ทำความรู้จัก Modular Construction คืออะไร

Modular Construction หรือระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป คือการก่อสร้างแบบแยกส่วน โดยโครงสร้าง และชิ้นส่วนต่างๆ ถูกผลิตออกมาเป็นแบบสำเร็จรูปให้เสร็จจากในโรงงานเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้งานแต่ละชิ้นได้คุณภาพ และขนาดที่ถูกต้องแม่นยำ ก่อนขนย้ายเพื่อนำไปติดตั้งที่หน้าไซต์งาน ซึ่งจะคล้ายกับคอนเซ็ปต์ของบ้านน็อคดาวน์ แต่สามารถสร้างได้ซับซ้อน และหลากหลายยิ่งกว่า โดยทำได้ทั้งห้องที่พร้อมเข้าอยู่ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว หรือคอนโด ไปจนถึงชิ้นส่วนที่พร้อมใช้งานสำหรับ นำส่งไปยังไซต์เพื่อทำการติดตั้ง เช่น ผนัง หลังคา หรือพื้น เป็นต้น

Modular Construction เทคโนโลยีระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป เทรนด์ที่กลับมาสะเทือนวงการรับเหมาอีกครั้ง

ซึ่งเทรนด์การก่อสร้างนี้ เริ่มถูกนำไปปรับใช้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ยกตัวอย่างผลงาน Modular Building เช่น เคสงานก่อสร้างโรงพยาบาลหั่วเสินซาน ประเทศจีน สร้างขึ้นโดยใช้เวลาเพียง 7 วัน ในช่วงโควิด-19 หรือแม้กระทั่งห้องน้ำสำเร็จรูป Modular Bathroom System โดย SCG ที่ตอบโจทย์เรื่องความสวยงาม คงทน ไม่ต่างจากห้องน้ำที่ก่อสร้างหน้างานแบบฉาบอิฐ ก่อปูน ที่ไม่เพียงช่วยลดต้นทุน แต่ยังลดขั้นตอนความยุ่งยากในการก่อสร้างได้อีกด้วย

ข้อดีและจุดแข็งของ Modular Construction

Modular Construction หรือระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นจากประโยชน์ และข้อดีที่มากมายเมื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างหน้าไซต์งานแบบดั้งเดิม ซึ่ง 3 ข้อดีหลัก ๆ ของ Modular Construction นั้นประกอบไปด้วย

Modular Construction เทคโนโลยีระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป เทรนด์ที่กลับมาสะเทือนวงการรับเหมาอีกครั้ง

1. ช่วยลดเวลางานก่อสร้าง (Faster Construction Time)

จากการผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่เรียบร้อยจากโรงงาน แล้วนำส่งชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบเข้ากัน หรือยกมาวางที่หน้าไซต์งานได้เลย Modular Construction จึงไม่เพียงช่วยลดระยะเวลาการทำงาน และจำนวนคนงานที่ต้องใช้เท่านั้น แต่ยังส่งผลให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้นเป็นเท่าตัวกว่าการก่อสร้างแบบเดิมอีกด้วย

2. ควบคุมคุณภาพการก่อสร้างได้ดีกว่า (Greater Quality Control)

อีกหนึ่งข้อดีของ Modular Construction คือการควบคุมคุณภาพงานได้ดียิ่งขึ้น จากการผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูป และประกอบในโรงงานจนเกือบเสร็จสิ้น ส่งผลให้โครงสร้างส่วนต่าง ๆ มีคุณภาพ ความแม่นยำ และข้อผิดพลาดที่น้อยกว่าการก่อสร้างแบบปกติ ยิ่งไปกว่านั้น Modular Construction ยังสามารถปรับแต่งโครงสร้างได้หลากหลาย และยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ ว่าจะได้งานตรงตามข้อกำหนด และความต้องการอย่างแน่นอน

3. ช่วยลดต้นทุนงานก่อสร้าง (Reduced Cost)

โดยทั่วไปแล้ว Modular Building มักใช้ต้นทุนการก่อสร้างน้อยกว่าอาคารทั่วไป เนื่องจากส่วนประกอบทั้งหมดถูกผลิตในโรงงาน และส่งไปติดตั้งที่หน้าไซต์งานได้เลย ทำให้งานก่อสร้างเสร็จอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดต้นทุนโดยรวมในการก่อสร้าง ได้แก่ ต้นทุนค่าวัสดุ และค่าแรงคนงานได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากความล่าช้าระหว่างการก่อสร้างได้อีกด้วย


รวม 4 ความท้าทายที่ต้องเจอ เมื่อสร้างอาคารสำเร็จรูป หรือ Modular Construction

Modular Construction เทคโนโลยีระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป เทรนด์ที่กลับมาสะเทือนวงการรับเหมาอีกครั้ง

1. ความท้าทายด้านการขนส่ง (Transportation Challenge)

เนื่องจากระบบก่อสร้างอาคารสำเร็จรูป หรือ Modular Construction จำเป็นต้องมีการขนส่งส่วนประกอบต่าง ๆ ไปยังสถานที่ก่อสร้าง โดยต้องคำนึงถึงขนาด และระยะทาง ซึ่งบางครั้งก็จำเป็นต้อง

จัดส่งในระยะทางที่ไกล ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งจึงอาจเป็นปัจจัยหลักของโครงการ Modular Construction เลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถสร้างในที่ซึ่งการขนส่งทำได้ลำบาก เช่น สร้างในป่า หรือพื้นที่สูงชัน ดังนั้นสิ่งสำคัญ และความท้าทายของการก่อสร้างโครงการ Modular Building จึงต้องการการวางแผนที่ดี เพื่อให้สามารถขนส่งชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้ครบทันกำหนดที่ต้องการนั่นเอง

2. การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental Consideration)

Modular Construction ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายด้าน เช่น ช่วยลดปริมาณของเสีย และสิ่งปนเปื้อนจากการก่อสร้างโดยตรงที่หน้าไซต์งาน ลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ที่ต้องฝังกลบ อีกทั้งยังช่วยควบคุมคุณภาพของทรัพยากรที่นำไปใช้ได้มากขึ้น โดยสามารถนำวัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุก่อสร้างแบบยั่งยืนมาปรับใช้ได้ นอกจากนี้การก่อสร้างที่ใช้ระยะเวลาสั้นลงยังช่วยลดการปล่อยมลพิษจากเครื่องจักรได้อีกด้วย

3. ข้อจำกัดด้านการออกแบบ (Limited Design Flexibility)

หนึ่งในข้อจำกัดของ Modular Construction คือการออกแบบที่อาจขาดความหวือหวา เพราะแต่ละส่วนประกอบถูกผลิตมาให้พอดีกับขนาด และมีรูปร่างเฉพาะสำหรับการใช้งานในแต่ละด้าน ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับสถาปนิก หรือผู้รับเหมาที่ต้องการสร้างอาคารให้มีความหลากหลาย โดยถึงแม้ว่า Modular Construction จะถูกปรับให้มีความยืดหยุ่นที่มากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างที่หน้าไซต์งานแบบปกติ

4. การควบคุมมาตรฐานที่ไม่เพียงพอ (Inadequate Regulatory Standards)

ถึงแม้ว่าการก่อสร้างอาคารสำเร็จรูป หรือ Modular Building จะได้รับความนิยม และมีศักยภาพที่มากขึ้นในหลายด้าน แต่ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรฐานด้านการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยบางประการยังอาจขาดตกบกพร่อง จึงมีความจำเป็นที่ต้องออกกฎระเบียบในการรับรองคุณภาพ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้พัฒนา หรือผู้รับเหมาที่ต้องการสร้าง Modular Construction ว่าโครงสร้างที่ผลิตออกมานั้นได้มาตรฐานความปลอดภัยอย่างแท้จริง


สรุป

Modular Construction หรือระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป คือการก่อสร้างแบบแยกส่วน ที่โครงสร้างและชิ้นส่วนต่าง ๆ ถูกผลิตสำเร็จรูปจากในโรงงานเกือบเสร็จสิ้นทั้งหมด แล้วนำมาติดตั้ง หรือยกมาวางที่หน้าไซต์งาน ซึ่งนวัตกรรมนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เมื่อเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมมีการพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน ควบคู่กับอัตราค่าแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Modular Construction จึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จากข้อดีหลายประการที่มากกว่าการก่อสร้างหน้าไซต์งานแบบดั้งเดิม อาทิเช่น ช่วยลดเวลางานก่อสร้าง การควบคุมคุณภาพ และลดต้นทุนก่อสร้างได้ดี แต่ถึงอย่างนั้น ระบบการก่อสร้างนี้ก็ยังคงมีความท้าทาย และข้อจำกัดอยู่ ได้แก่ ความท้าทายด้านการขนส่ง ผลกระทบที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อม ข้อจำกัดด้านการออกแบบ และการควบคุมมาตรฐานที่ยังไม่เท่าเทียมกันทั่วโลกนั่นเอง

รักเหมา หวังว่าข้อมูลในบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพี่ ๆ ผู้รับเหมาทุกคนไม่มากก็น้อยนะคะ สำหรับใครที่ ไม่อยากพลาดเทคนิค หรือเทรนด์การก่อสร้างดี ๆ สามารถติดตามรักเหมาที่ช่องทาง Facebook และ Line OA กันได้เลย


รักเหมา แพลตฟอร์มจัดซื้อวัสดุก่อสร้างออนไลน์

เรียนรู้เทคนิค สร้างบ้านตรงใจ รับผลกำไรมากขึ้น 

ติดตาม “รักเหมา” ได้ที่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *