ประเด็นสำคัญ การจดทะเบียนบริษัทเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของธุรกิจ นอกจากจะเป็นแสดงตัวตนของธุรกิจอย่างเป็นทางการแล้ว การจดทะเบียนธุรกิจยังเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือในระยะยาวอีกด้วย ก่อนที่จะเริ่มต้นบริษัท ผู้ประกอบการควรมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการจดทะเบียนบริษัทนั้นมีอยู่ด้วยกันกี่ประเภท แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร และขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทนั้นมีอะไรบ้าง จดทะเบียนบริษัทมีกี่ประเภท? อะไรบ้าง หากต้องการเริ่มต้นจดทะเบียนบริษัท อันดับแรกต้องทำความรู้จักกับประเภทของการจดทะเบียนกันก่อน โดยการจดทะเบียนบริษัทนั้นแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้ 1. การจดทะเบียนพาณิชย์ (สำหรับบุคคลธรรมดา) การจดทะเบียนพาณิชย์ประเภทนี้เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีเจ้าของทำงานเพียงคนเดียว ขายสินค้าหรือบริการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เช่น บุคคลธรรมดาที่ค้าขายออนไลน์ ระบบร้านค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ บุคคลธรรมดาที่มีอาชีพค้าขาย และมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง เป็นต้น ข้อดีของการจดทะเบียนในลักษณะนี้ คือ ผู้ประกอบการจะไม่มีภาระในการทำบัญชีหรือยื่นส่งงบการเงิน และมีอิสระในการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาจขาดความน่าเชื่อถือในระยะยาว เข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้ยาก รวมไปถึงยังทำให้เจ้าของธุรกิจต้องมีภาระหน้าที่ทางกฎหมายในการรับภาระหนี้สินของธุรกิจแบบไม่จำกัดอีกด้วย 2. การจดทะเบียนบริษัท (สำหรับนิติบุคคล) เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีเจ้าของ ผู้ลงทุนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยการจดทะเบียนบริษัทจะทำให้มี “บริษัท” มีสถานะเป็น “นิติบุคคล” ที่มีตัวตนตามกฎหมาย แยกจากเจ้าของธุรกิจ เจ้าของบริษัทจึงเป็นอิสระจากหนี้สินของบริษัท (เจ้าของธุรกิจมีภาระการชำระค่าหุ้นให้ครบตามทุนที่จดทะเบียนบริษัทไว้เท่านั้น) อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีภาระหน้าที่แยกจากเจ้าของ โดยบริษัทต้องจัดทำบัญชี เสียภาษี ยื่นประกันสังคมให้พนักงาน เป็นต้น […]