จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้โครงการก่อสร้างต่างๆ ทั่วโลกเกิดความล่าช้า กินเวลามานานหลายปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ โดยในปี 2023 นี้ เป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นฟู และเป็นปีแห่งการเปิดตัวงานก่อสร้างใหม่ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจหลายโครงการ เช่น อาคารที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือ ศูนย์ศาสนาแห่งใหม่ของอาบูดาบี วันนี้ รักเหมา เรียบเรียงข้อมูลจาก CNN มาสรุปให้ทุกๆ คนได้ติดตาม กับ 9 งานก่อสร้างรังสรรค์โลก เตรียมเปิดตัวในช่วงปี 2023
1. National Library of Israel, Israel
หอสมุดแห่งชาติของอิสราเอล
หอสมุดแห่งชาติของอิสราเอลและคลังเก็บหนังสือ ต้นฉบับ และภาพถ่ายจำนวนมหาศาล ความโดดเด่นของอาคารคือมีลักษณะคล้ายกับหินแกะสลักขนาดใหญ่ ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น หอประชุม ศูนย์เยาวชน และพื้นที่จัดนิทรรศการต่างๆ ออกแบบโดย Herzog & de Meuron บริษัทสถาปัตยกรรมจากสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีคอนเซ็ปต์ที่สะท้อนถึงการเปิดกว้างและการเข้าถึงง่ายของแหล่งข้อมูลความรู้ ด้วยช่องรับแสงที่ล้อมรอบตัวอาคาร ไปจนถึงตู้หนังสือที่ตั้งเด่นทั่วบริเวณห้องสมุด ทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา สามารถมองเห็นหนังสือในหมวดหมู่ต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและชัดเจน
2. Nordø, Copenhagen, Denmark
เปลี่ยนพื้นที่อุตสาหกรรม ให้เป็นย่านอัจฉริยะและเป็นมิตร
เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเมืองหลวงแห่งสถาปัตยกรรมโลกของ UNESCO ในปี 2023 และเมืองหลวงของเดนมาร์กแห่งนี้ก็เต็มไปด้วยตัวอย่างการออกแบบที่ยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาพื้นที่อย่าง Nordhavn (หรือ Northern Harbour) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน ให้กลายเป็นย่าน “อัจฉริยะ” ที่เป็นมิตรกับพลเมือง โดย Nordø บริษัทสถาปัตยกรรมของเดนมาร์กเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ย่านนี้ ด้วยอาคารอิฐแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าครั้งหนึ่งพื้นที่ตรงนี้คือพื้นที่อุตสาหกรรม ตามมาด้วยสวนสาธารณะขนาดใหญ่ และระเบียงบนชั้นดาดฟ้า รวมถึงพัฒนาบ้านกว่า 115 ในธีม “Island Oasis” ที่สามารถเข้าถึงร้านอาหารและพื้นที่สาธารณะได้อย่างง่ายดาย
3. Lola Mora Cultural Center, Argentina
สตูดิโอของสถาปนิกระดับโลก César Pelli
César Pelli สถาปนิกชาวอาร์เจนตินาผู้ล่วงลับ เป็นที่รู้จักจากผลงานการออกแบบตึกระฟ้าอย่าง Petronas Towers ในกัวลาลัมเปอร์และ World Financial Center ในนิวยอร์ก โดย Lola Mora Cultural Center ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอาร์เจนตินา ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Net-Zero Energy” คาดว่างานก่อสร้างนี้จะสร้างพลังงานได้มากกว่าที่ใช้ไปถึง 20% นอกจากจะมีการจัดแสดงผลงานของเธอแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของร้านอาหาร ห้องสมุด และสตูดิโอสำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมอีกด้วย
4. Abrahamic Family House, UAE
ศูนย์ศาสนาแห่งใหม่ของอาบูดาบี (อิสลาม คริสต์ และยูดาย)
เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE นั้นนับถือศาสนาอิสลามเกือบ 80% แต่สำหรับศูนย์ศาสนาแห่งใหม่ของอาบูดาบีแห่งนี้ นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงความเท่าเทียมกันของ 3 ศาสนา ได้แก่ อิสลาม คริสต์ และยูดาย โดยมีลักษณะเป็นรูปทรงลูกบาศก์ขนาดเท่ากัน แสดงถึง สุเหร่า โบสถ์ยิว และโบสถ์คริสต์ ที่ตั้งอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน โดยสถาปนิกชาวกานา-อังกฤษ David Adjaye กล่าวว่า แม้ว่าอาคารทั้งสามหลังจะมีการวางแนวที่แตกต่างกัน แต่การออกแบบมีลักษณะร่วมกันอยู่ รวมถึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ทุกคนสามารถสนทนาและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันได้ และเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนที่มีความปรารถนาดีให้มารวมกันเป็นหนึ่งเดียว
5. Merdeka 118, Kuala Lumpur, Malaysia
อาคารที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก Burj Khalifa ในดูไบ
Merdeka 118 เป็นอาคารที่มีความสูงอยู่เหนือจากเมืองหลวงของมาเลเซียถึง 2,227 ฟุต และเป็นอาคารที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก Burj Khalifa ในดูไบ ตัวอาคารถูกปกคลุมด้วยกระจกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะและงานฝีมือของมาเลเซีย ภายในอาคาร เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มีกำหนดสร้างเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 โดยจะแบ่งเป็นพื้นที่ค้าขายประมาณ 1 ล้านตารางฟุต รวมถึงโรงละครขนาด 1,000 ที่นั่ง สำนักงาน โรงแรม และดาดฟ้าชมวิวที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
6. Destination Crenshaw, LA, USA
ย่าน Art แห่งใหม่ เน้นศิลปะและวัฒนธรรมของคนผิวดำ
ทำยังไงให้ย่าน Crenshaw, LA กลายเป็นจุดมุ่งหมายของการเดินทาง ที่ไม่ใช่แค่ทางผ่านของใครๆ อีกต่อไป? Destination Crenshaw จุดหมายใหม่ของ LA ที่ถูกออกแบบโดยบริษัทสถาปัตยกรรม Perkins&Will ซึ่งจะเป็นย่าน Art แห่งใหม่ ประกอบไปด้วยทางเดินสายวัฒนธรรม, สวนสาธารณะกว่า 10 แห่ง, พื้นที่แสดงของตกแต่งบ้านและงานศิลปะกว่า 100 ชิ้น ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และรูปปั้นอีกมากมาย ที่จะเน้นนำเสนอศิลปะและวัฒนธรรมของคนผิวดำ คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้
7. AMRF First Building, Sydney, Australia
ศูนย์กลางการพัฒนา “เมืองสนามบิน” ของออสเตรเลีย
เมืองซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการก่อสร้างศูนย์กลางการพัฒนา “เมืองสนามบิน” หรือที่เรียกว่า Aerotropolis ซึ่งจะถูกขนานนามว่า Western Sydney Aerotropolis ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอาจสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ในเมืองได้มากกว่า 100,000 ตำแหน่งภายในช่วง 3 ทศวรรษข้างหน้า
สำหรับ AMRF First Building มีกำหนดสร้างเสร็จในปลายปี 2566 โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา “เมืองสนามบิน” ของออสเตรเลีย สร้างขึ้นจากไม้สำเร็จรูปที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวของน้ำ ออกแบบโดยบริษัทสถาปัตยกรรม Hassell ร่วมมือกับ Danièle Hromek นักออกแบบพื้นเมืองแห่ง Djinjama ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านวัฒนธรรมและการออกแบบแห่งแรกของประเทศออสเตรเลีย
8. Kempegowda International Airport, India
สนามบินเมือง Bengaluru ในธีม Terminal in a Garden
เบงกาลูรู (Bengaluru) เป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศอินเดีย การก่อสร้างของสนามบิน Kempegowda International Airport ประกอบไปด้วยอาคารผู้โดยสาร จำนวน 2 อาคาร เริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี 2566 เพื่อเพิ่มความจุให้สามารถรองรับผู้เดินทางได้ปีละประมาณ 25 – 40 ล้านคน ออกแบบโดยบริษัท Owings & Merrill ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติอันเขียวขจี ในทำนองเดียวกันกับสนามบิน Changi Airport ประเทศสิงคโปร์
9. Grand Egyptian Museum, Giza, Egypt
พิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุล้ำค่าที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์
พิพิธภัณฑ์ Grand Egyptian Museum แห่งนี้มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐและเป็นที่จัดแสดงวัตถุล้ำค่าที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่ถูกรอคอยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่มีการประกาศการแข่งขันการออกแบบในปี 2545 โดยสถาปนิก Heneghan Peng จากเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ศูนย์อนุรักษ์ และโถงขนาดใหญ่ มีความสูงพอที่จะเก็บรูปปั้นขนาดมหึมาของฟาโรห์แรเมซีสที่ 2 ตกแต่งด้วยกระจกทั่วทั้งอาคาร ซึ่งเป็นรูปแบบที่สื่อถึงพีระมิดกีซาที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์
ขอบคุณข้อมูลจาก CNN Style
The new buildings set to shape the world in 2023
Related Posts
แนวโน้มธุรกิจรับเหมา ในปี 2023 จุดเริ่มต้นของแสงสว่าง หรือทิศทางชะลอตัว?
ธุรกิจรับเหมาในปีนี้ไปจนถึงปีหน้าจะขยายตัวประมาณ 4.5-5.5% ต่อปี ด้านราคาวัสดุก่อสร้างปีนี้ยังทรงตัว จากการปรับขึ้นของราคาพลังงาน และการขนส่ง จากข้อมูลแนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2565-2567: ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยวิจัยกรุงศรี ได้สรุปไว้ว่า ธุรกิจรับเหมาในปีที่ผ่านมา ได้เผชิญกับความเสี่ยงจากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นมาก ทั้งด้านค่าขนส่งและราคาวัสดุก่อสร้าง [...]
Mar
รักเหมา Buy Now VS รักเหมา E-Procurement: เลือกแพลตฟอร์มไหนให้ตอบโจทย์งานจัดซื้อของคุณ?
ในยุคดิจิทัลที่เกือบทุกอย่างสามารถทำได้ผ่านออนไลน์ รวมถึงการซื้อวัสดุก่อสร้าง ทำให้ผู้รับเหมาหรือฝ่ายจัดซื้อมีช่องทางในการจัดซื้อที่หลากหลายมากขึ้น โดยรักเหมา ได้เปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ “รักเหมา Buy Now” แหล่งรวมวัสดุก่อสร้างสะดวกซื้อ ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเปรียบเทียบให้ผู้รับเหมาและฝ่ายจัดซื้อ สามารถเลือกใช้ช่องทางการซื้อวัสดุก่อสร้างที่ตอบโจทย์กับความต้องการของพี่ๆ ทุกคนได้ ภาพรวมของแพลตฟอร์ม รักเหมา Buy [...]
Sep